วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กล้วยไม้ไทย


กล้วยไม้ไทย


ไม้ขวด กุหลาบแม่เมยxกุหลาบมาลัยแดง
        กล้วยไม้ขวดชุดนี้เป็นลูกผสม ชั้นต้นกล้วยไม้ไทยในสกุลเอื้องกุหลาบ ระหว่างเอื้องกุหลาบแม่เมย(กุหลาบน่าน) กับเอื้องกุหลาบมาลัยแดง ทั้งคู่เป็นกล้วยไม้ทีมีกลิ่นหอมดอกขนาดเล็กก้านดอกยาว มีจำนวนดอกในช่อมาก ดอกเป็นช่อห้อยสีพื้นดอกเป็นสีชมพู ต้นพ่อพันธุ์กุหลาบมาลัยแดง มีลักษณะกลีบดอกที่หนา บานทนมากว่าหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไป กล้วยไม้ ลูกผสมชุดนี้ น่าจะเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกดกเรียงเป็นระเบียบ มีดอกสีโทนชมพูและมีกลิ่นหอมไม่ต่างจากต้นพ่อแม่พันธุ์มากนัก กล้วยไม้ไทยลูกผสมชุดนี้ เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงปลูกเลี้ยงง่าย ทนสภาพอากาศร้อนได้ดี ชอบแสงร่มรำไร ความชื้นปานกลาง อากาศถ่ายเทสะดวก การดูแลเช่นเดียวกับสกุลช้างหรือแวนด้า

 
เขากวางแดง ฉัตรดา ชิเนนทร
     ไม้รุ่น เขากวางแดง ฉัตรดา ชิเนนทร ชุดนี้เป็นกล้วยไม้รุ่นอีกชุดที่ทยอยให้ดอกกันแล้วครับ ชุดนี้คัดต้นสวย ๆ แดง ๆ แบ่งจำหน่ายโดยเฉพาะครับ รับประกันว่าแดงทุกต้นร้อยเปอร์เซ็น สำหรับ เขากวางแดง ฉัตรดา ชิเนนทร นั้น เป็นที่ยอมรับจากนักกล้วยไม้อเมริกัน ซึ่งได้รับการการันตีย์โดย ดร. เดวิด แอล โกฟ ท่านเป็นนักกล้วยไม้ของ สมาคมกล้วยไม้ AOS เขากวางแดง ที่ถูกค้นพบครั้งแรกนั้น ได้ชื่อมาจากเจ้าของที่พบในครานั้นคือคุณ ฉัตรดา และห่างหายไปนานนับสิบปีก็มีการค้นพบ เขากวางแดง อีกต้น ซึ่งอยู่ที่คุณชิเนนทรนั่นเองครับ คุณชิเนนทรได้นำ เขากวางแดง ต้น ฉัตรดา และ ต้น ชิเนนทร ผสมเข้าด้วยกัน และกลายมาเป็น เขากวางแดง ฟอร์มสวย ๆ ที่เห็นในเว็บของเรานี้แหละครับ ลูกของต้น ฉัตรดา และ ต้นชิเนนทร ได้รับการยกย่องว่า เป็น เขากวางแดง พันธุ์แท้ ซึ่งหมายถึง ไม่มีต้นไดเลยหลุดออกมาเป็นเขากวางลายเหมือนเขากวางป่า ทุกต้นแดงหมด บางต้นก็แดงจนดำทึบไปเลยก็มีครับ และชุดที่จำหน่ายอยู่นี้ก็เป็น ลูก ๆ จากต้นสวย ๆ ที่ คัดฟอร์มมาผสมอีกครั้งครับ ท่านไดชอบ เขากวางแดง พันธุ์แท้ จากต้นตำรับแท้

ไม้นิ้ว ฟาแลนด์ผีเสื้อน้อย
        กล้วยไม้ชนิดนี้ เป็นกล้วยไม้ ขนาดเล็ก อยู่ในสกุล ฟาแลนด์น็อปซิส (Phalaenopsis spp.) กล้วยไม้สกุล ฟาแลนด์ มีที่มาของชื่อมาจากรากศัพท์ภาษากรีก จากคำว่า ฟาไลน่า (phalina)ซึ่งหมายความถึง ผีเสื้อกลางคืน บวกกับคำว่า ออฟซิส (opsis)ซึ่งแปลว่า คล้าย หรือ เหมือน สื่อให้เห็นถึงลักษณะ ของดอกที่คล้าย กับผีเสื้อกลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม กล้วยไม้ฟาแลนด์น็อปซิส พันธุ์แท้ที่มีดอกขนาดใหญ่สีขาว กล้วยไม้สกุลนี้เป็น ไม้อิงอาศัย ชนิดที่เจริญเติบโตทางยอด ไม่แตกกอ มีรากและใบขนาดใหญ่
      กล้วยไม้ ฟาแลนด์ ผีเสื้อน้อย เป็นกล้วยไม้พันธุ์แท้หายาก ที่มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ อาณาเขตแถบเทือกเขาหิมาลัยด้านทิศตะวันตก แคว้นอัสสัม ในอินเดีย พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ ลงไปด้านตะวันตกในบริเวณ เขตชายแดนด้านเทือกเขาตะนาวศรี
      ผีเสื้อน้อย เป็น กล้วยไม้ สกุล ฟาแลนด์น็อปซิส ที่มี ต้นและใบมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับฟาแลนด์ชนิดอื่นๆทัวไป เมื่อโตเต็มที่ใบยาวเพียง๕-๖ ซม.กว้างประมาณ๒-๔ซม.ใบมีสีเขียวเข้มอมเทา ดอกออกเป็นช่อสั้นแทงข้างลำต้น ขนาดดอกประมาณ ๑.๕ซม.มีดอกดกได้หลายดอกในช่อ กลีบดอก ฟอร์มกลมสีขาว มีสีม่วงแดง ที่กลีบปากรูป สามเหลื่ยม ซึ่งยื่นออกมาชัดเจนแยกจากตัวดอก
      การปลูกเลี้ยงโดยทั่วไป มักปลูกติดไม้แขวน หรือปลูกใส่กระถางขนาดเล็ก เครื่องปลูกสามารถปรับใช้ได้หลายอย่าง เช่น แผ่นรากชายผ้าสีดา(สำรับกระถางหรือติดไม้) กาบมะพร้าวสับ หรือแสฟ็กนั่มมอส
      กล้วยไม้ ฟาแลนด์น็อปซิส เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสง ค่อนข้างร่มรำไร ไม่ชอบแสงจัด ควรพรางแสงด้วซาแรน ๗o-๘o % หรืออาจแขวนไว้ใต้ร่มไม้ที่มีแสงรำไร ควรปลูกเลี้ยงในที่อากาศ ถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงบริเวณที่อับลม
      การรดน้ำ วันละครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถในการเก็บกักความชื้นของวัสดุปลูก ถึงแม้ส่วนใหญ่กล้วยไม้สกุลนี้มักจะชอบสภาพทีมีความชุ่มชื้นสูง กว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด แต่ ควรเว้นระยะ ให้มีโอกาศได้แห้งบ้าง เพราะหากให้น้ำมากเกินไป จนเครื่องปลูกแฉะอุ้มน้ำมาก มักจะทำให้เกิดโรคและอาจทำให้ ต้นกล้วยไม้เน่าเสียหายได้ ในช่วงฤดูฝน ควรย้ายที่แขวนฟาแลนด์ หลบเข้าที่กันฝน เพราะเม็ดฝน อาจทำให้ยอดอ่อนเน่าได้

ไม้นิ้วไอยเรศสีเข้ม ไอยเรศแดง
     ไอยเรศชุดนี้ เป็นไอยเรศ ช่อดี สีจัด จากแหล่งธรรมชาติในรัฐฉาน ประเทศ พม่า จุดเด่นคือลายสีชมพูบานเย็นเข้ม จนอาจเรียกได้ว่าเป็นไอยเรศแดงได้ ซึ่งเป้นลักษณะเด่นที่ไม่ค่อยพบได้บ่อยนัก ส่วนใหญ่ไอยเรศที่พบทางภาคเหนือของไทย ลงมาทางแถบตะวันตกบริเวณเทอกเขาตระนาวศรี ทางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลยเข้าไปถึงทางฝั่งประเทศ ลาว หรือไอยเรศที่พบเรื่อยลงไปทางใต้ มักจะมีดอกสีอ่อนสีขาว หรือสีขาวอมชมพู มีลายจางๆ หรือไม่มีลาย มีกลีบปากสีชมพูอ่อน หรือ เข้มแตกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด ซึ่งเท่าที่พบมามีเพียงไม่ก็แหล่งที่พบไอยเรศที่มี ลายบั้งสีเข้มชัดเจน เมื่อมองดูช่อดอกจากระยะไกลทำให้ดูเหมือนว่าเป็น สีแดงทั้งช่อ
     กล้วยไม้ต้นนี้ คุณพงษ์ปกรณ์ โรจนไพบูลย์ นักปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไทยที่เชี่ยวชาญท่านหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าของต้นพ่อแม่พันธุ์ที่ได้มา จากแหล่งดังกล่าว โดยแรกเริ่มได้มาหลายต้น แต่เมื่อออกดอก ได้พบว่ามีต้นที่สีดีลายชัดเจน ปะปนกับต้นที่โทนสีปานกลาง จึงได้คัดแยกต้นที่มีลักษณะดีออกมาและ ได้ผสมและนำไปเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ไอยเรศ สีเข้มต้นนี้ ตั้งแต่ช่วงปี๒๕๕o โดยคุณเพรช ซึ่งเป็นเพื่อนกับเจ้าของต้นกล้วยไม้แม่พันธุ์ และเป็นสมาชิกผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ของสมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่อีกท่าน จนได้เป็นกล้วยไม้ขวดและนำออกปลูกเลี้ยงอนุบาลเป็นกล้วยไม้นิ้ว โดยไม้นิ้วชุดนี้ได้จากต้นที่สีเข้มจัดที่สุด เท่าที่เคยพบมาในวงการประกวด ของเชียงใหม่ ซึ่งทางเจ้าของต้นแม่พันธุ์และผู้ผสม คาดหวังว่าน่าจะได้ลูกไม้ที่ได้ลักษณะถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ดีด้านสีของดอกมาจากต้นแม่ และทางผู้ผสมได้ให้ความเห็นว่า นี่อาจเป็นการเริ่มต้นพัฒนาไอยเรศ ให้มีสีแดงทั้งดอกเช่นเดียวกับ ช้างแดง ที่ได้มีการผสมพัฒนาสายพันธุ์มานานจนได้กล้วยไม้สกุลช้างดอกสีแดงเข้มที่มีสายพันธุ์คงที่ไม่แปรผัน จนเป็นที่ยอมรับของนักกล้วยไม้ทั่วโลก
กล้วยไม้นิ้วช้างแดงสีเข้ม
       กล้วยไม้ช้างแดง เป็นกล้วยไม้ไทยอีกชนิดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ในอดีตเป็นกล้วยไม้หายากในธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ช้างแดงต่อๆกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี
      ซึ่งจากประสบการณ์ในวงการกล้วยไม้ของทีมงาน ออร์คิดทรอปปิคอล สังเกตว่าช้างแดงในยุคหลังเป็นลูกไม้ที่มีหลายๆเบอร์เป็นกล้วยไม้ที่มีสายเลือดชิดกันซึ่งทางผู้ผสมอาจไม่ทร าบว่าต้นพ่อแม่พันธุ์เป็นช้างแดงที่เมื่อสืบประวัติย้อนขึ้นไปอาจเป็นช้างแดงที่มีพ่อแม่ หรือ ต้นสายเดียวกัน ซึ่งเมื่อนำต้นลูกหลานมาผสมกัน ก็มักจะเลือกดูต้นที่ดอกสวยเป็นพ่อแม่ซึ่งเมื่อผสมได้ลูกมามักจะได้ ฝักที่มีเมล็ดน้อย เพาะขยายพันธุ์ได้ไม่มากนักในแต่ละครั้ง ซึ่งเมื่อเลี้ยงจนออกดอกก็อาจให้ลูกที่มีความแตกต่างของสีและรูปทรงได้หลากหลาย หรือมีสีอ่อนกว่าเป็นแบบแดงใส ซึ่งการป้องกันการผลิตต้นกล้วยไม้ช้างแดงที่มีสายเลือดชิดกัน ทางทีมงาน จึงพยายามใช้ต้นพ่อแม่ที่ข้ามสายกันไกลๆเพื่อให้ลูกไม้ที่มีคุณภาพ
     กล้วยไม้นิ้วช้างแดง ชุดนี้เป็น ลูกช้างแดง สีเข้ม ต้นพ่อแม่พันธุ์ เป็นช้างแดงช่อสวย สีเข้ม สายพันธุ์ ของพลโท วิสูตร นายกสมาคมกล้วยไม้ลพบุรี ผสมและพัฒนาสายพันธุ์ กับช้างแดงช่อยาว จากสวนจริญญาออร์คิด ซึ่งการผสมครั้งนี้ได้คัดต้นที่ดอกสวยและมีสีเข้มที่สุดในชุดมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ลูกไม้ที่ได้มีลักษณะ ใบแคบ ยาว ที่คอใบมีสีแดงเข้ม


ไม้ขวด ฟ้ามุ่ยน้อยแดง
   หากเอ่ยถึงสวนของคุณชิเนนทรแล้วก็ต้องพลางนึกไปถึงสวนกล้วยไม้พันธุ์แท้ที่มีแต่ชนิดพันธุ์โดดเด่นสวยสะดุดตาจนใครต่อใครที่มาก็ต่างประทับใจและล่ำลือไปทั่วเชียงใหม่ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไปที่สวนนี้ค่อนข้างบ่อย แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นกล้วยไม้แปลกได้เบ่งบาน
     ไม้ชุดนี้คุณชิเนนทรเล่าให้ผมฟังว่ากว่าจะได้ต้นพ่อต้นแม่ที่แดงเข้มและออกชมพูมาแบบนี้ใช้เวลาหากันเป็นสิบสิบปี "ฟ้ามุ่ยน้อยชมพู" หรือ "ฟ้ามุ่ยน้อยแดง" คุณชิเนนทรเอ่ยถึงชื่อของกล้วยไม้ชนิดนี้ให้ผมฟังนับร้อยครั้งได้แล้วแต่ก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีอยู่จริง ฟ้ามุ่ยน้อยจัดอยู่ใน กลุ่มสกุลแวนด้าครับ มันเป็นกล้วยไม้สีบลูคล้ายกับฟ้ามุ่ยแต่มีดอกขนาดเล็กกว่า ดอกของเค้าพลูฟูฟ่องราวกับเข็มแสดยามเบ่งบานอวดทรงในช่วงฤดูร้อนช่วงเมษายน บังเอิญที่ผมมาช่วงเมษายนของปีนี้พอดิบพอดีและก็ได้พบกับ "ฟ้ามุ่ยน้อยแดง" ต้นเป็น ๆ
     มันน่าประหลาดใจมากครับ ที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ มันมีสีแดงจริง ๆ และอีกต้นถึงจะแดงเข้มไม่เท่ากันแต่มันก็เป็น "ฟ้ามุ่ยน้อยแดง" ที่สวยซะเหลือเกิน แม้ยามใกล้จะโรยแล้วก็ตามที ทันไดคุณชิเนนทรก็ได้เล่าถึงความพยายามที่จะขยายพันธุ์เจ้า "ฟ้ามุ่ยน้อยแดง" ให้ผมฟัง "รู้ไหม" คุณชิเนนทรถามผมนัยตาบ่งบอกถึงความตั้งใจอะไรบางอย่าง "กว่าจะได้ทำเป็นไม้ขวดชุดนี้มา ต้องใช้เวลาพอสมควรเลยเชียวละ" ผมฟังแล้วก็งง งง แต่ท่านก็เล่าต่อ "ฟ้ามุ่ยน้อยแดง ทั้งสองต้นนี้จริง ๆ แล้วก็ผสมติดฝักมาตลอด แต่ว่า ฝักไม่เคยเพาะขึ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งบางครั้งฝักก็แตกก่อนจะถึงเวลาเพาะ" ผมพลางจะพอเข้าใจ คุณชิเนนทรมาบ้างแล้วว่าทำไมถึงใช้เวลาอย่างที่ท่านบอก "แต่เร็ว ๆ มานี้ได้ติดฝักไคว้กันไว้ให้เจ้าต้นแดงเข้มนั้นเป็นแม่ แล้วเอาต้นชมพูเป็นพ่อ ได้ฝักมาเมื่อปีกลายก็ได้นำไปเพาะ ตอนที่แล็ปโทรมาแจ้งว่าได้ไม้ขวดมาแล้วนั้นดีใจมาก" ท่านกล่าวด้วยคำพูดที่ปิติอย่างสังเกตุได้ชัด "ถึงจะได้มาจำนวนน้อย แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วที่พยายามมาหลายปี" ท่านกล่าว "ถึงจะได้จำนวนไม่มากนัก แต่ก็ดีใจมากแล้ว" คุณชิเนนทรพูดต่อพลางมองมาที่ผมแล้วเอ่ย "เรานะโชคดีที่ได้เห็นกล้วยไม้หายากพวกนี้ ถ้าเป็นยุคสมัยของเฮียแล้วละก็ กว่าจะได้เห็นฟ้ามุ่ยน้อยแดงสักต้น ทั้งชีวิตตลอด ๕๐ กว่าปีคิดเอาละกันเพิ่งเห็นอยู่แค่ ๒ ต้น มันไม่ได้หาง่ายหรือพบเห็นได้ง่ายเหมือนวันนี้ ที่เราถือกล้องมาถ่ายภาพไปเลยนะ" ฟังจบประโยคนี้ มันทำให้ผมได้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของกล้วยไม้ที่หาพบได้ยากยิ่ง อย่าง "ฟ้ามุ่ยแดง" ขึ้นมาเลย

สามปอยขุนตานชิเนนทรสีเข้ม
  กล้วยไม้ขวดชุดนี้เป็น กล้วยไม้ไทยลูกผสมฝีมือการผสม จากสวนคุณชิเนนทร ผู้คร่ำวอดในวงการกล้วยไม้และนักปรับปรุงพันธุ์สามปอยของเชียงใหม่ ต้นแม่พันธุ์คือ กล้วยไม้ เอสโคเซ็นด้า ชัยศิริ(Ascocenda Chaisiri) เป็นลูกผสมระหว่่งสามปอยขุนตาน กับ เข็มแสด คัดเลือกต้นที่ดอกดกสีโทนเหลืองส้มเข้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ต้นแม่พันธุ์เป็นต้นที่ก้านช่อยาวกว่าต้นอื่นๆ อีกด้วย
     ส่วนต้นพ่อพันธุ์ คือ สามปอย ขุนตาน ต้นเหลืองเข้มเป็น ไม้คัด ต้นสวยในชุดแม่พันธุ์สามปอยขุนตานของสวนคุณ ชิเนนทร ลักษณะดอกใหญ่กลีบหนาสีเหลืองนวลเสมอกันทั้งดอก สามปอยต้นนี้มีกลิ่นหอมแรงเป็นพิเศษอีกด้วย
     ไม้ขวด ชุดนี้เป็นการผสมที่พัฒนาข้ามชนิด ซึ่งคาดหวังที่จะให้ได้ลูกไม้ที่แข็งแรงเลี้ยงง่าย และมี ดอกช่อดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่สามปอยมักเป็น กล้วยไม้ที่มีดอกขนาดปานกลางค่อนข้างใหญ่แต่มีจำนวนดอกในช่อไม่มากนัก เมื่อได้นำมาผสมกับ กล้วยไม้ สกุลเข็ม จึงได้ลูกไม้ที่สีเข้ม ดอกดกพรูขึ้นแต่ขนาดดอกยังค่อนข้างเล็กอยู่ จึงนำมาผสมกลับเข้าสามปอยขุนตานอีก ครั้ง เพื่อเพิ่มขนาดดอกและความหนาของกลีบดอกเพื่อเพิ่มเติมกับคุณสมบัติที่ดีอยู่แล้วเรื่องสีและช่อของกล้วยไม้ลูกผสมสกุลเอสโคเซ็นด้า
     กล้วยไม้ชุดนี้เป็นกล้วยไม้รากอากาศสกุลแวนด้า ที่เลี้ยงง่าย สามารถปลูกในบริเวณที่อากาศร้อนได้ดี ชอบเครื่องปลูกที่โปร่งระบายน้ำได้ดี อากาศถ่ายเทสะดวกจะทำให้ลูกกล้วยไม้โตไว พรางแสงรำไร ประมาณ70% เมื่ออยู่ในระยะแรกเริ่มควรเสริมส่วนที่เป็นหลังคากันฝนสำรับลูกไม้เล็ก เมื่อโตขึ้นแข็งแรงดีแล้วจึงค่อยขยับให้ได้แสงมากขึ้นทีละนิด เพราะหากเลี้ยงในที่ร่ม เกินไปต้นกล้วยไม้มักจะไม่ออกดอก

1 ความคิดเห็น: